วัดประจำรัชกาล ที่ 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี

วัดประจำรัชกาล ที่ 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี

มารู้จักกับ วัดประจำรัชกาล ที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรีซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ซึ่งวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้ชาวไทยเห็นว่าประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ของเราทรงเป็นพุทธศาสนิกและอัครศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนาเสมอมา

ธาราญา ขอชวนสายบุญ ไปไหว้พระ 10 วัด 10 รัชกาล กันค่ะ

วัดประจำรัชกาลที่ 1– วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์”  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง 

     ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551และวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ

คลิกแผนที่

วัดประจำรัชกาลที่ 2– วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

       วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ จากหลักฐานเชื่อว่าสร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอกนอก ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ

        วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงโปรดให้สร้างพระอุโบสถและพระวิหารต่อจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูป ด้วย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งมีความสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร แต่มาเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม”

คลิกแผนที่

วัดประจำรัชกาลที่ 3 – วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร (วัดจอมทอง)

       พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ใน พ.ศ.2363 เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึง วัดจอมทอง ฝั่งธนบุรีทรงหยุดพักและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงครามพร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปราชการทัพครั้งนี้ได้ชัยชนะ แต่ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา

        เมื่อยกทัพกลับ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ และถวายเป็นพระอารามหลวงแด่รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นผู้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชโอรส ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกสั้นๆจากชื่อเต็มว่า วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชโอรสซึ่งเป็นผู้บูรณะ

คลิกแผนที่

วัดประจำรัชกาลที่ 4 – วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร 

       วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ข้างสวนสราญรมย์ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2407 เพื่อเป็นวัดธรรมยุตินิกาย เพื่อให้เจ้านายและข้าราชการทั้งฝ่ายนอกและฝ่ายใน ได้บำเพ็ญกุศลกันได้สะดวกขึ้น เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังและทรงพระราชทานนามว่าวัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

คลิกแผนที่

วัดประจำรัชกาลที่ 5-7  – วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

      คำว่า ราชบพิธ หมายถึง พระราชาทรงสร้าง ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสีพระราชเทวี และเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ ส่วน สถิตมหาสีมาราม ก็คือเป็นวัดที่ประดิษฐานเสมาขนาดใหญ่ เพราะตามปกติแล้วเสมาของวัดโดยทั่วไปจะอยู่ตามมุมหรือติดอยู่กับตัวพระอุโบสถ แต่เสมาของวัดนี้ตั้งอยู่บนกำแพงรอบวัดถึง 8 ด้าน จึงเป็นการขยายเขตทำสังฆกรรมของสงฆ์ให้กว้างขึ้น

      วัดนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 เท่านั้น แต่ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วย เพราะในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 7 มิได้มีการสร้างวัด แต่ท่านก็ได้รับพระราชภาระในการทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธนี้ด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นวัดประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน

คลิกแผนที่

วัดประจำรัชกาลที่ 6-9 วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

  วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

      วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดใหม่ เป็นวัดโบราณ เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชได้เสด็จมาประทับ และทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายขึ้นที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดนี้อีกด้วย

       อีกทั้งหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ซึ่งจะถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9

คลิกแผนที่

วัดประจำรัชกาลที่ 8 – วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

       วัดสุทัศน์ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ.2350 แต่มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2390 และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวราราม

      ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

คลิกแผนที่

วัดประจำรัชกาลที่ 10 – วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต)

วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร หรือ วัดทุ่งสาธิต สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2399 โดยคหบดีชาวลาวชื่อ นายวันดี ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ภายหลังจากเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายมรณภาพ ทำให้ไม่มีใครสืบสานต่อจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาปี พ.ศ.2506 วัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ให้สวยงามดังเดิม

และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (รัชกาลที่ 10) ทรงรับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร” ด้วย พระอาจารย์สาธิต ฐานวโร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายวัดทุ่งสาธิต แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ (พระยศรัชกาลที่ 10 ในขณะนั้น)

คลิกแผนที่