ทำไมพระต้องออกธุดงค์ วัตถุประสงค์ของการเดินธุดงค์เพื่ออะไร ?

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไม พระธุดงค์ ท่านได้เดินเพื่ออะไร การออกธุดงค์ของพระนั้น เพือแสวงหาที่เงียบสงัดปลีกวิเวก เพื่อทำสมาธิ บำเพ็ญสมณธรรม แล้วก็เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ติดในสถานที่นั้น

พระมหากัสสปเถระ ได้รับยกย่องเป็นผู้เลิศในทางผู้ทรงธุดงค์

เมื่อท่านอุปสมบทแล้วทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากอุปสมบทได้ 8 วัน พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักท่านในนาม “พระมหากัสสะ” ท่านได้ช่วยรับภารธุระอบรมสั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่นๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทานธุดงค์ 3 ประการ อย่างเคร่งครัด คือ

  1. ถือการนุ่งห่มบังสุกุลเป็นวัตร
  2. ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
  3. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

เพราะการปฏิบัติในธุดงค์คุณทั้ง 3 ประการนี้อย่างเคร่งครัด พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ทรงธุดงค์ นอกจากนี้ พระบรมศาสดายังทรงยกย่องท่านในทางอื่นๆ อีกหลายประการ กล่าวคือ

“กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอนุ่มดี”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงใช้สอบเถิด พระเจ้าข้า”

“กัสสปะ แล้วเธอจะใช้อะไรทำสังฆาฏิเล่า”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อข้าพระองค์ได้รับจากพระองค์ ก็จะใช้เป็นสังฆาฏิ พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาได้ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ซึ่งเก่าคร่ำคร่าให้แก่ท่านแล้วทรงยกย่องท่านอีก 4 ประการ คือ

  • กัสสปะ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยตถาคต เป็นผู้มักน้อยสันโดษภิกษุทั้งหลายควรถือเป็นแบบอย่างกัสสปะ เมื่อเธอเข้าไปใกล้ตระกูลแล้ว ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกาย วาจา และใจ ในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น ตั้งจิตเป็นกลางว่า “ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญจงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีจิตเป็นฉันใด ผู้อื่นก็มีใจเป็นฉันนั้น”
  • กัสสปะ มิจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
  • ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับท่านไปใช้สอย ทรงสอนภิกษุให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ โดยยกพระมหากัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง

การเดินธุดงค์ของพระมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร แล้วเดินแค่ไหนถึงจะหยุด เดินในป่า หรือเดินในเมืองถึงจะเรียกว่าถูกต้องตามพระวินัย

     พระธุดงค์ ท่านเดินทำให้ไม่ติดที่ และเป็นการฝึกสมาธิทำในอิริยาบถเดินไปด้วย คือทำสมาธิสามารถทำได้ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง หรือแม้คนป่วย หรือคนจะหลับก็นอนทำสมาธิได้ เพราะฉะนั้นทำได้ทุกอิริยาบถ แต่เราจะใช้อิริยาบถหลักคือการนั่งนั่นเอง เพราะถ้าเกิดนอนทำก็จะเผลอหลับได้ง่าย แล้วตอนเดินจริงๆ แล้วเราต้องแบ่งใจมาให้กับการเคลื่อนไหวอิริยาบถด้วย ดังนั้นจะทำสมาธิได้ยากกว่าตอนนั่งนิดนึง แต่มีข้อดีคือ ทำให้ดึงสติได้ดี ตอนนั่งหลับตา เนื่องจากไม่ต้องระวังอิริยาบถบางทีใจไปคิดนั้นคิดนี่  บางคนทำสมาธิตอนเดินทำได้ดีก็มี
     เพราะฉะนั้น พระธุดงค์ท่านเอง ก่อนจะไปเดินธุดงค์ท่านก็ฝึกทำสมาธิอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้สมาธิระดับนึง แล้วตอนเดินก็เป็นการประคองสติ โดยเฉพาะมีญาติโยมอยู่ด้วยก็ยิ่งจะต้องมีความสงบ สำรวมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะมีข้อดีหลายด้าน ในส่วนของพระ ท่านก็จะจาริกไปเรื่อยๆ แต่ละวันไม่ได้เดินซ้ำที่เดิม ทำให้ไม่ติดที่ และสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับญาติโยม เห็นพระธุดงค์เดินมาโยมเองก็ปลื้ม เป็นการระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงการทำความดี ประโยชน์ก็เกิดขึ้นหลายสถาน

     ตั้งแต่โบราณมาจึงนิยมเดินธุดงค์กันหลังออกพรรษาไปแล้ว ถามว่าเดินในป่า หรือเดินในเมือง จริงๆ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลก็มีการเดินจาริกทั้งในเมืองและในป่า พอผ่านเมืองชาวเมืองก็มาต้อนรับกันเต็มเลย เหมือนตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระภิกษุสงฆ์เป็นพันๆ รูปเดินจาริกไปโปรดหมู่ญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ก็จาริกผ่านป่าเข้าสู่เมือง พระราชา พระมหากษัตริย์ ชาวบ้านทั้งหลายก็มารับกันเต็มเมือง
เพราะฉะนั้นเราทำได้ทั้งในป่าและในเมือง
     ถ้าหากมุ่งประโยชน์ของพระ เดินในป่าก็ดี ธรรมชาติสงบร่มรื่น
     ถ้าหากมุ่งประโยชน์กับญาติโยม อันนี้ก็ต้องเดินในจุดที่มีประชาชนอยู่ ยิ่งอยู่ในกรุงก็ต้องถือว่าพระท่านเสียสละมากๆ เลย เพราะต้องสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ เพราะมีผู้ที่พบเห็นแล้วเกิดความศรัทธาเป็นแสน เป็นล้านคน

ประโยชน์ของการเดินธุดงค์มี 3 อย่าง คือ

  1. ประโยชน์ต่อพระภิกษุที่เดินธุดงค์ ซึ่งเป็นพระภิกษุในโครงการบวชแสนรูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย เมื่อออกพรรษารับกฐินแล้วมีศรัทธาตั้งใจบวชต่อไม่สึก ก็ได้มารวมกัน และปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ พระภิกษุออกเดินธุดงค์ก็เสมือนหนึ่งเดินจงกลมด้วย ลองพิจารณาว่าท่านเดินถือกลดสะพายย่าม กลางแดดร้อน แต่หน้าของท่านใสมีรอยยิ้มบนใบหน้า ผิวอาจจะดูคล้ำบ้าง แต่ว่าถึงดำก็ดำนวล และความบริสุทธิ์ผ่องใสเกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ภายใน ระหว่างเดินก็ระลึกนึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ว่าเรากำลังเดินตามรอยท่านอยู่ และระลึกว่าจะต้องตั้งใจฝึกตามอย่างหลวงปู่ให้ได้ ทุกย่างก้าวมีอุดมการณ์ในการบวชที่หนักแน่น ระหว่างเดินก็ได้ประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมด้วย หลายๆรูปบรรลุธรรมระหว่างเดินธุดงค์ก็มี นี้คือประโยชน์ต่อพระภิกษุ
  2. ประโยชน์ต่อญาติโยม ทำให้โยมทั้งหลายมีความสุขกายสุขใจที่ได้เห็นพระผ่านมาถึงหน้าบ้านเป็นร้อยเป็นพันรูป ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
  3. ประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เมื่อญาติโยมมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็ยังผลให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในภาพรวม แม้คนที่อยู่ไกลๆไม่ได้มาต้อนรับโดยตรง ก็เกิดปีติอยากที่จะมาศึกษาพระพุทธศาสนา อยากจะทราบว่าพระเดินเป็นแถวยาวๆ เดินทำไม เพื่ออะไร พอศึกษาแล้วก็ศรัทธา แล้วเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างด้วย เกิดเป็นผลต่อความรุ่งเรืองมั่นคงของพระพุทธศาสนา

ชุดกำลังวัน

เสริมดวงเกิด เหมาะสำหรับทำบุญวันเกิด หรืองานบุญทั่วไป สามารถเลือกสีเทียน & ริบบิ้น ตามสีของกำลังวันเกิด

เชิญดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สังฆทานชุด

ชุดบรรเทากรรมด้วยกรรมที่สร้างมาทำให้ทุกกาย ทุกใจ ปัญหารุมเร้า จึงอยากตัดขาดจากเวรกรรม (อโหสิกรรม)

เชิญดูรายละเอียดเพิ่มเติม