ขั้นตอนการเตรียมตัว ก่อนไป ปฏิบัติธรรม

ขั้นตอนการเตรียมตัว ก่อนไปปฏิบัติธรรม

การ ปฏิบัติธรรม คือ การเอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต ทำการทำงาน ทำหน้าที่ ทำทุกเรื่องทุกอย่างให้ดี ให้ถูกต้อง คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต ทำให้เป็นชีวิตที่ดี มีความสุขที่แท้จริง  เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่ใช่เฉพาะการปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่วัด อยู่ป่า แล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิ ไม่ใช่แค่นั้นอันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง การปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้น เรียกว่า เป็นการปฏิบัติแบบเข้มข้น หรือลงลึกเฉพาะเรื่อง แต่อันที่จริงนั้น การปฏิบัติธรรมต้องมีตลอดเวลา เมื่อทำงานหรือทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ตั้งใจทำให้ดี ให้เกิดคุณประโยชน์ ให้สำเร็จความมุ่งหมายที่ดีงาม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

การเตรียมตัวก่อนไปปฏิบัติธรรม

1)    เตรียมเคลียร์ภาระและการงาน

            ผู้ที่เป็น “มนุษย์หาเงินเดือน”  ก็ควรรีบลางานแต่เนิ่น ๆ  พอใบลาอนุมัติ  ก็รีบป่าวประกาศให้เพื่อนร่วมงานและญาติมิตรรู้กันทั่วว่าเราจะหายตัวไปปฏิบัติธรรม  (มารหน้าไหนก็อย่าขวาง)  หากใครต้องการอะไรจากเรา  เขาจะได้สอบถามแต่เนิ่น ๆ  ไม่ฉุกละหุก จากนั้นเคลียร์งานเก่าที่คั่งค้างให้เสร็จ  งานใดที่ไม่เสร็จง่าย  ๆ  ก็มอบหมายให้ใครที่ใจดีรับช่วงต่อไปสักระย  สำหรับผู้ที่มีภาระต้องรับส่งลูกหลานไปโรงเรียน  หรือต้องจ่ายค่าน้ำ  ค่าไฟ  ค่าโทรศัพท์  ค่าผ่อนบ้าน  ผ่อนรถ  ผ่อนตู้เย็น  ผ่อนทีวี ฯลฯ  ก็ควรรีบสะสางหรือมอบหมายภาระอันใหญ่หลวงนี้ให้ใครรับหน้าที่แทนไปก่อน จะได้หมดห่วง

2)    เตรียมจัดการเก็บกระเป๋า

บางแห่งกำหนดให้ใส่ชุดขาว  บางแห่งก็อนุโลมให้สวมกางเกง  ผ้าถุง  หรือกระโปรงยาว  (ที่กว้างพอจะนั่งกรรมฐานได้โดยไม่อึดอัดรัดรึง)  ที่สีสุภาพ  เช่น  ดำ  เท่า  น้ำตาล  กรมท่าได้  แต่เสื้อควรเป็นเสื้อมีแขนสีขาวที่ไม่มีลวดลายหรือตัวหนังสือใด ๆ  ไปรบกวนสมาธิของผู้ร่วมปฏิบัติธรรม  ควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอกับจำนวนวัน  (ยกเว้นในกรณีที่มีบริการซักรีดให้)  เพื่อจะได้ไม่ต้องพะวักพะวนกับการซักล้างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติให้ต่อเนื่อง   ควรเลือกเนื้อผ้าที่ใส่สบายในขณะปฏิบัติธรรม  โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อความร้อนหรือความเย็นของอากาศก็ควรพิจารณาให้รอบคอบ  สำหรับคุณผู้หญิงควรเตรียมผ้าสไบไปด้วย  แต่ไม่ต้องแบกกระเป๋าเครื่องสำอางให้เปลืองแรง  เพราะเรามักจะสมาทานศีล  8  กัน 

            นอกจากเสื้อผ้า  อย่าลืมยาประจำตัว  (ถ้ามี)  และหากที่พักห่างจากหอปฏิบัติธรรม  ควรนำร่มและไฟฉายติดตัวไป พกยาทากันยุงและแป้งโรยกันมดไปด้วยยิ่งดี  ส่วนของมีค่าอย่านำติดตัวไปให้เป็นกังวล

3)    เตรียมกายของเราให้แข็งแรง

            พักผ่อนให้เพียงพอแต่เนิ่น ๆ  รักษาสุขภาพให้สมบูรณ์พร้อม  เพราะการปฏิบัติธรรมต้องอาศัยพละกำลังทั้งกายและใจ  ผู้ประมาททำงานจนดึกดื่นค่อนคืน  เมื่อมาเข้ากรรมฐานก็หมดเรี่ยวแรง  ง่วงเหงาหาวนอน  หรือป่วยไข้เสียโอกาสดี ๆ  ที่หายากไปโดยเปล่าประโยชน์

4)    เตรียมใจให้แกร่งและสงบ

            กายพร้อมแล้ว  ใจก็ต้องพร้อมด้วย  ควรงดดูหนัง  ดูละคร  ฟังเพลง  เที่ยวเตร่  หรือติดตามข่าวสารที่พาให้วุ่นวายใจ  อย่างน้อย  ๆ  1  สัปดาห์ล่วงหน้า  เพื่อให้ใจกระเพื่อมน้อยลง  ผู้ที่ห่างเหินห้องพระ  ก็ควรปัดฝุ่น  สวดมนต์  ให้ใจสงบ ที่สำคัญเตรียมกำลังใจให้แข็งแกร่งหนักแน่นเข้าไป  เพราะมักจะมีเหตุให้ละล้าละลังจนอาจยกเลิกการไปปฏิบัติธรรมได้  พึงท่องให้ขึ้นใจว่า  “โอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา  ก็จัดว่ายากมากแล้ว  แต่โอกาสที่ผู้ใดจะได้ปฏิบัติธรรมยิ่งยากที่สุด  เมื่อได้มาอย่าขว้างทิ้งไปง่าย ๆ  เพราะอาจไม่มีโอกาสเช่นนี้อีก”

5)    เตรียมซ้อมเพื่อทบทวนวิชา

            ผู้ที่ห่างเหินการเดินจงกรม  นั่งกรรมฐานและกำหนดอิริยาบถย่อยที่บ้านก็ควรจะปัดฝุ่นขัดสนิมตัวเอง  ซ้อมล่วงหน้านาน ๆ  จะได้ไม่เสียเวลาวันแรก ๆ  ของการปฏิบัติไปอย่างฝืด ๆ  ซ้อมตื่นแต่เช้ามืดด้วยยิ่งดี  (เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่เคยชินกับการตื่นก่อนตี  4  จะได้ไม่ต้องนั่งสัปหงกให้ครูบาอาจารย์เห็น)

6)    เตรียมก้าวเข้ามาอย่างปล่อยวาง

            เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว  ก็ปล่อยวางทุกอย่างไว้ที่บ้านกับที่ทำงาน  ก้าวเข้ามาพร้อมหน้าเปื้อนรอยยิ้มและใจที่พองฟู  เบาสบาย  ผ่องใส  สงบเย็น

สิ่งที่ควรปล่อยวางเมื่อไปปฏิบัติธรรม

เมื่อก้าวมาถึงแล้ว  ก็ต้องเริ่มด้วย  การวาง 6  สิ่งที่พึงทำ

1)    วางหัวโขน

            ไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์อย่างไร  ตำแหน่งหน้าที่การงานหรือฐานะทางสังคมโดดเด่นเพียงใด  เมื่อมาเข้ากรรมฐานก็ต้องละวางลงให้หมด  เจ้านาย  ลูกน้อง  เศรษฐี  ยาจก  ทุกคนจะเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเท่าเทียมกัน  เมื่อวางลงได้ก็จะรู้สึกเบาสบาย  ปฏิบัติก้าวหน้าได้ไว  เพราะได้ละความยึดติดในตัวตน  เรา  เขา  ไปแล้วส่วนหนึ่ง

2)    วางกังวลภาระ

            ตอนนี้เรามีเพียงตัวคนเดียว  ไม่มีพ่อ-แม่-พี่-น้อง-ลูก-สามี/ภรรยาให้ต้องห่วงใย  ไม่มีการงานรกสมอง  ไม่มีสมบัติที่ต้องหวงแหน  ไม่มีการศึกษาที่กลัวเรียนไม่ทันเพื่อนฝูง  มีแต่งานปฏิบัติธรรมตรงหน้าที่จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด  เมื่อปล่อยวางได้  ความฟุ้งซ่านจะเบาลง  และปฏิบัติก้าวหน้าได้ไว

3)    วางสรรพความรู้เก่า

            วางทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรมที่เคยร่ำเรียนมาไว้ก่อน  ทำตนเป็นแก้วน้ำเปล่า ๆ  ที่รอให้ครูบาอาจารย์เติมให้เต็ม  ก็จะได้ความรู้ใหม่ ๆ  อีกมากมายโดยไม่เสียเวลาเปล่า  อย่าเสียเวลาไปกับการเปรียบเทียบความรู้ใหม่กับความรู้เดิมในระหว่างการปฏิบัติธรรม  จะฟุ้งซ่านโดยเปล่าประโยชน์  รอไว้กลับไปวิเคราะห์ความแตกต่างที่บ้านดีกว่า

4)    วางว่า “เราต้องเป็นหนึ่ง”

            การปฏิบัติธรรมต้องทำอย่างผ่อนคลาย  ใช้สติตามดูกายกับจิต  ตามที่เป็นจริง  แล้วให้ปัญญาค่อย ๆ  พัฒนาขึ้นเอง  เหมือนการปลูกต้นไม้  งานของเรา  คือ  รดน้ำ  พรวนดิน  ใส่ปุ๋ย  กำจัดวัชพืช  เมื่อสภาวะเหมาะสมแล้ว  ต้นอ่อนก็จะค่อย ๆ  งอกขึ้นมาเองและเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป  อย่าคาดหวังในผลสำเร็จ  เพราะนั่นคือความโลภ  เป็นกิเลสที่ทำให้ใจขุ่นมัว  ปัญญาย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้

5)    วางใจให้ลึกซึ้งในคำสอน

            ความศรัทธาในตัวครูบาอาจารย์  ในคำแนะนำสั่งสอนและในแนวทางของการปฏิบัติธรรม  เป็นหัวใจสำคัญข้อหนึ่งของนักปฏิบัติธรรม  ควรเปิดใจให้กว้าง  รับฟังคำแนะนำสั่งสอนด้วยความเคารพเชื่อถือ  และตั้งใจทำตามคำแนะนำอย่างเต็มกำลัง  เมื่อมีข้อสงสัยก็ไต่ถามจนกระจ่าง

6)    วางไว้ก่อนความกลัวตาย”

            ความยึดติดในตัวตนของเราเป็นเหตุให้เรา “รักตัวกลัวตาย”  เมื่อเกิดเวทนาในระหว่างการปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อย  ก็เริ่มกังวลกลัวความเจ็บปวด  เมื่อเวทนาแรงกล้าขึ้น  ก็เริ่มฟุ้งซ่านกลัวตาย  เราจึงควรตั้งสติให้รู้เท่าทันความฟุ้งซ่านนั้น  ไม่มีใครเคยตายเพราะการปฏิบัติธรรม  ตรงกันข้าม  ครูบาอาจารย์มักกล่าวว่า  เวทนาเป็นกุญแจที่ไขประตูสู่พระนิพพาน  เมื่อเกิดเวทนาขึ้นมาก็ควรวางความกลัวตายลงเสีย  แล้วตามดูเวทนาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง  จะสามารถพัฒนาจนเกิดปัญญาญาณได้

ในการปฏิบัติธรรม มี 6 สิ่งที่ควรตั้งใจ คือ

1)    ตั้งใจเก็บวาจา

            การพูดเป็นหนทางให้สมาธิรั่วออกไปง่ายที่สุด  เร็วที่สุด  และมากที่สุด  ตลอดเวลาที่เข้าปฏิบัติธรรม  ควรงดพูดกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด  นอกจากพูดกับครูบาอาจารย์และพี่เลี้ยงเท่านั้น  การพูดจากับผู้ปฏิบัติธรรมอื่น  นอกจากทำให้สมาธิ่ของตนรั่วออกไปแล้ว  ยังเป็นการทำลายสมาธิองผู้อื่นด้วย  อันจะเป็นเวรเป็นกรรมต่อไป  หากจำเป็นต้องสอบถามกิจธุระกับเจ้าหน้าที่หรือผู้บริการก็ควรให้สั้นที่สุด  และมีสติกำหนดรู้ตลอดเวลาที่พูด  หรือหากเลี่ยงไปใช้การเขียนแทนได้ก็จะดี

2)    ตั้งใจปฏิบัติช้า ๆ

            การเคลื่อนไหวร่างกาย  ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใหญ่หรืออิริยาบถย่อย  จะต้องพยายามทำอย่างช้า ๆ  เหมือนคนป่วยหนัก  เพื่อให้สติตามรู้ได้ทัน  จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งตามความเป็นจริง

3)    ตั้งใจรักษาศีล

            ศีลวิสุทธิ-ความบริสุทธิ์แห่งศีล  เป็นบาทฐานที่สำคัญยิ่งของการปฏิบัติธรรม  เพราะจะช่วยให้เราเจริญกรรมฐานได้ด้วยจิตใจที่มั่นคง  ไม่ต้องฟุ้งซ่านกังวลกับความรู้สึกผิดใด ๆ  เราคงแก้ไขความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านไปแล้วไม่ได้  แต่เราสามารถรักษาศีลในปัจจุบันให้บริสุทธิ์ได้  จึงควรระวังรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

4)    ตั้งใจผินหน้ามาฟังธรรม

            ทุกวันนี้  โอกาสจะได้รับรสพระธรรมนับว่าหายากยิ่ง  และโอกาสที่เราจะมีสติและสมาธิพร้อมเพียงพอจะเข้าใจพระธรรมนั้นอย่างลึกซึ้งก็หายากยิ่งกว่า  ฉะนั้นการฟังธรรมบรรยายในระหว่างเข้าปฏิบัติธรรม  จึงเป็นโอกาสล้ำค่า  ยิ่งไปกว่านั้น  ธรรมบรรยายส่วนใหญ่จะเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมในขณะนั้นหรือในวันต่อ ๆ ไปด้วย  ผู้ปฏิบัติธรรม  จึงควรตั้งอกตั้งใจฟังธรรม  แม้จะคุ้นกับธรรมบรรยายบางหัวข้อมาแล้ว  แต่การฟังซ้ำ ๆ  ก็ยังเกิดประโยชน์มากเพราะเมื่อสติคมชัดและสมาธิดิ่งลึก  ผู้ปฏิบัติจะเกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ ๆ  เพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีกเสมอ

5)    ตั้งใจปฏิบัติธรรมเจริญสติ

            พึงใช้สติจดจ่อตามรู้กายรู้ใจของตนให้ตรงตามความเป็นจริง  ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนหลับไปกับสติในตอนกลางคืน  การเจริญสตินั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง  ไม่ควรให้ความสำคัญแค่การเดินจงกรมกับการนั่งสมาธิเท่านั้น  เพราะหากเกียจคร้านขาดการตามรู้อิริยาบถย่อยแล้ว  สมาธิที่เกิดจากการเดินจงกรมและนั่งสมาธิก็จะรั่วออกไป  การปฏิบัติธรรมจะไม่มีวันก้าวหน้าเลย

6)    ตั้งใจดำริส่งอารมณ์

            การส่งอารมณ์เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะได้สอบทานกับครูบาอาจารย์  ว่าการปฏิบัติของตนถูกต้องหรือไม่  และมีข้อบกพร่องใดที่ควรแก้ไข  เพราะฉะนั้นพึงรายงาน  (ส่งอารมณ์)  ทุกอย่างตามความเป็นจริง  อย่าปกปิด  อย่ากลัวการตำหนิ  ระวังอย่าสรุปเอาเองว่า  สิ่งใดสำคัญ  สิ่งใดไม่สำคัญ  สิ่งใดดี  สิ่งใดไม่ดี  เพราะเรายังด้อยความรู้และประสบการณ์  พึงรายงานทุกอย่างให้ครูบาอาจารย์ได้รับทราบ  แต่ก็ควรรายงานให้สั่นกระชับแจ่มแจ้ง  แล้วตั้งใจฟังและจดจำคำแนะนำต่อไป

การปฎิบัติธรรมนั้น สามารถช่วยให้เราเตรียมใจรับมือกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสิ่งต่างๆ รวมถึงความคิดของตัวเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ สามารถทำให้จิตใจสงบ มีสติ มากยิ่งขึ้น

ชุดกำลังวัน

เสริมดวงเกิด เหมาะสำหรับทำบุญวันเกิด หรืองานบุญทั่วไป สามารถเลือกสีเทียน & ริบบิ้น ตามสีของกำลังวันเกิด

เชิญดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สังฆทานชุด

ธาราญา เพียบพร้อมบริบูรณ์ เหมาะสำหรับ งานมงคลพิเศษ อาทิ งานบวชพระ ทำบุญบ้าน ทำบุญวันเกิด

เชิญดูรายละเอียดเพิ่มเติม