การสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ในศาสนาพุทธมีจริงหรือไม่ ตอนที่ 1(หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)

การสะเดาะเคราะห์

 การสะเดาะเคราะห์ตามหลักพุทธศาสนานั้น เราจะต้องรู้จักว่า เรามีอะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดเคราะห์ร้ายขึ้นในชีวิต เราค้นหาเหตุนั้นให้พบ เมื่อพบเหตุนั้นแล้วตัดเหตุนั้น คือเลิกไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติในเรื่องนั้นต่อไป อย่างนี้เรียกว่า สะเดาะเคราะห์เด็ดขาด เคราะห์ร้ายจะไม่เกิดขึ้นแก่เราต่อไป

อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา มันขึ้นอยู่กับความคิด การพูด การกระทำ การคบหาสมาคม การไปการมาของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของภายนอก ไม่มีอำนาจอะไรภายนอก ที่จะมาเราให้เป็นอะไร ให้ดีก็ไม่ได้ ให้ชั่วก็ไม่ได้
ความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ ความเสื่อม ความเจริญ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น เกิดจากตัวเราเอง
พระปัญญานันทภิกขุ

(พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)

คือเราทำ ให้มันเกิดขึ้น เราคิด เราพูด เราทำ เราคบหาสมาคม เราไปมาในที่ต่างๆ แล้วมันก็เกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ได้เกิดอำนาจอะไรภายนอก แม้จะมีเรื่องภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่ตัวการใหญ่ ตัวการใหญ่มันอยู่ที่ตัวเราเองทั้งนั้น

แต่ว่าคนเรานั้นมีความผิดประจำตัวอยู่ประการหนึ่ง คือไม่ยอมรับว่าตัวผิดคนที่ทำอะไรไม่ถูกต้อง แล้วไม่ยอมรับว่าตัวผิด มีมากในบ้านเมืองของเรา มีอยู่ทั่วๆไป

การไม่ยอมรับว่าตัวผิดนั่นแหละ คือตัวปัญหาของชีวิต
เช่นเรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องเสื่อม เรื่องเจริญ เรื่องดี เรื่องชั่วอะไรต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เราไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องของเรา เราก็แก้ไม่ได้ เพราะไปแก้ที่ภายนอก
ไปแก้ที่ดวงดาวไปแก้ไม่ได้ ไปแก้ที่วันปีเกิด มันก็แก้ไม่ได้ เพราะว่าเราเกิดมาแล้ว เราจะถอยเข้าไปในท้องของคุณแม่แล้วเกิดใหม่ มันก็ไม่ได้ นอกจากไปทำพิธีบ้าๆ บวมๆ เช่นว่า ช้างที่มาเที่ยวเดินอยู่ในกรุงเทพฯ เขาให้คนที่มีความเชื่อปัญญาอ่อน ไปลอดใต้ท้องช้างสามรอบ สามครั้ง ครั้งละ ๒๐ บาท เสียเงินไม่ใช่ลอดเฉยๆ เสียเงินให้ควาญช้างเอาไปซื้อหญ้าให้ช้างกิน ลอดไปลอดมาถือว่าเกิดใหม่ มีชีวิตใหม่ อย่างนั้นมันไม่ได้ตั้งต้นชีวิตใหม่อะไร ยังโง่อยู่เท่าเดิมนั่นเอง

มีคนคนหนึ่ง แกนึกว่าแกเคราะห์ร้าย เลยไปคิดว่าจะไปลอดใต้ท้องช้าง แล้วเวลาไปหมาที่คุ้นเคยมันไปด้วย หมาเมื่อไปถึงมันเห็นเท้าช้างเป็นของประหลาด เพราะมันใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด มันก็เลยไปกัดเท้าช้าง คนนั้นกำลังลอด ช้างมัน จั๊กจี้ มันก็กระดิกเท้าเตะหมา แต่หมามันหลบทันเพราะตัวมันเล็ก คนที่กำลังคลาน หลบไม่ทัน เลยไปเตะเข้ากลางตัว ซี่โครงหักตาย ตายเพราะหาเรื่องจะไปเกิดใหม่นั่นเอง เกิดใหม่แบบนี้มันไม่ถูกต้อง มันไม่เป็นธรรม ไม่เข้าเหตุผล

เราจะเกิดใหม่ก็ได้ ทุกคนเกิดใหม่ได้ เกิดใหม่หมายความว่า เรารู้ว่าผิดอะไร เราไม่ดีในเรื่องอะไร แล้วเราตั้งใจว่า จะไม่ทำเช่นนั้นอีกต่อไป เช่น สมมติว่าเราเป็นคนชอบดื่มสุราเมรัย สิ่งเสพติด ชีวิตร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมทรัพย์สมบัติก็เสื่อม การงานก็เสื่อม อะไรๆก็เสื่อมไปหมด เสียหาย แล้วไปได้ฟังพระ ท่านบอกว่า การดื่มของมึนเมามันให้โทษหลายอย่างแก่ชีวิตร่างกาย ก็เกิดรู้สึกตัวขึ้น พอรู้สึกตัวก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะเลิกไม่ดื่มสุราเมรัยอันเป็นยาเสพติด ต่อไปนี้เกิดใหม่แล้ว ตั้งแต่วินาทีที่ตั้งใจว่าจะไม่ดื่มของมึนเมา ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่สูบกัญชา ยาฝิ่น ยาม้า อะไรก็ตาม ไม่แตะต้องมันอีกต่อไปเลย เลิกเด็ดขาด คนนั้นได้ชื่อว่าเกิดใหม่แล้ว แล้วก็ชื่อว่าสะเดาะเคราะห์ออกไปได้

สะเดาะความชั่วนั่นแหละสะเดาะเคราะห์ ไม่ใช่มาวัดแล้วทำพิธีสะเดาะเคราะห์ แล้วกลับไปก็เหมือนเดิม เมาอย่างใดก็เมาอยู่อย่างเดิม เคยประพฤติชั่วอย่างใด ก็ประพฤติอยู่อย่างเดิม อย่างนี้ไม่ได้สะเดาะอะไร ไม่ได้เอาความชั่วออกจากตัว

การสะเดาะเคราะห์ ตามหลักพุทธศาสนา

เราจะต้องรู้จักว่า เรามีอะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดเคราะห์ร้ายขึ้นในชีวิต เราค้นหาเหตุนั้นให้พบ เมื่อพบเหตุนั้นแล้วตัดเหตุนั้น คือเลิกไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติในเรื่องนั้นต่อไป อย่างนี้เรียกว่า สะเดาะเคราะห์เด็ดขาด เคราะห์ร้ายจะไม่เกิดขึ้นแก่เราต่อไป
…อะไรๆ มันขึ้นอยู่กับตัวเราเอง อันนี้สำคัญ พระพุทธศาสนาสอนให้เรารู้จักช่วยตัวเอง ให้เรารู้จักพึ่งตัวเอง การช่วยตัวเอง การพึ่งตัวเองนั้น ต้องเอาพระธรรมคำสอนมาเป็นหลักในการช่วยตัวเอง ในการพึ่งตัวเอง เพราะธรรมนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง เป็นสิ่งอำนวยความสุขให้แก่เรา ถ้าเราเอาธรรมะมาใช้
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรมวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 99 ก.พ. 52 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)

การสะเดาะเคราะห์ และการทำบุญจึงเป็นกุศโลบายของจิตใจในทางพุทธศาสนา

เพื่อทำให้ผู้ทำมีจิตใจที่เข้าถึงความดีเป็นพื้นฐานและสร้างกำลังใจ เช่น บริจาคโรงทาน การถวายผ้าไตร ถวายสังฆทาน เพื่อให้จิตใจมีความมุ่งมั่นแก่การให้ทานรู้จักให้ หรือ โดยเริ่มต้นโดยการมี ถือศีลห้า สมาธิ ภาวนา เมื่อคราวทุกข์มาหรือเคราะห์ก็มีปัญญารับมือ และแก้ไขเคราะห์นั้นอย่างมีสติ