กฐิน ในประเทศไทยมีกี่ชนิด ?

กฐิน ในประเทศไทยมีกี่ชนิด

กฐิน เป็นบุญถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษาแล้ว เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นเขตทอดกฐินตามหลักพระวินัย มูลเหตุมีการทำบุญกฐินซึ่งมีเรื่องเล่าว่า พระภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูป จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร แต่จวนใกล้กำหนดเข้าพรรษาเสียก่อน จึงหยุดจำพรรษาที่เมืองสาเกต พอออกพรรษาแล้วก็รีบพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่ผ้าสบงจีวรเปื้อนเปรอะ เนื่องจากระยะทางไกลและฝน ผ้าสบงจีวรจึงเปียกน้ำและเปื้อนโคลน จะหาผ้าผลัดเปลี่ยนก็ไม่มี พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุเช่นกัน จึงมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้ตามกำหนด

ความหมายและความสำคัญของการถวายกฐิน

ความหมายของกฐิน
กฐิน เป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่าไม้สะดึง คือ “กรอบไม้” หรือ “ไม้แบบ” สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ ซึ่งผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน (ผ้าเย็บจากไม้แบบ)

อาจจำแนกตามความหมายเพื่อความเข้าใจง่ายได้ดังนี้

  • กฐินเป็นชื่อของกรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร ดังกล่าวข้างต้น
  • กฐินเป็นชื่อของผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน (โดยได้มาจากการใช้ไม้แม่แบบขึงเย็บ)
  • กฐินเป็นชื่อของงานบุญประเพณีถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน
  • กฐินเป็นชื่อของสังฆกรรมการกรานกฐินของพระสงฆ์

 

ชนิดของกฐินในประเทศไทย

ตามพระวินัยแล้ว ไม่ได้จำแนกการทอดกฐิน (การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์) ออกเป็นชนิด ๆ ไว้แต่อย่างใด คงกล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระสงฆ์เท่านั้น แต่หากพิจารณาจากประเพณีที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบัน คงพอจำแนกชนิดของกฐิน การทอดกฐิน ได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.จุลกฐิน

จุลกฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า “ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) โปรดให้ทำจุลกฐิน” ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า “กฐินแล่น” (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)

2.มหากฐิน

มหากฐิน เป็นศัพท์ที่เรียกเพื่อหมายความถึงการทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก ไม่ต้องทำโดยเร่งรีบเหมือนจุลกฐิน มหากฐินคือกฐินที่ทอดถวายตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่จะมีการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรมและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป (มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) โดยมหากฐินนั้นอาจเป็นกฐินที่มีเจ้าภาพเพียงคนเดียวหรือกฐินสามัคคีก็ได้

เครดิตจากเพจ

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B4%E0%B8%99

การทอดกฐินในประเทศไทย

               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงประทับบนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทอดบัลลังก์บุษบก เสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค
กฐินหลวง
กฐินหลวง เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จไปพระราชทานแทน กฐินหลวงนี้จัดเครื่องพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และบางครั้งมีการจัดพิธีแห่เครื่องกฐินพระราชทานอย่างใหญ่ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือกระบวนพยุหยาตราสถลมารถ แล้วแต่พระราชประสงค์ (ในปัจจุบันคงการเสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐินอย่างพิธีใหญ่นั้น คงเหลือเพียงโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคเท่านั้น)
กฐินหลวงในปัจจุบันมีเพียง 16 วัดเท่านั้น เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เป็นต้น

 

กฐินต้น

กฐินต้น เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานยังวัดราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์

 

กฐินพระราชทาน


กฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร (ในปัจจุบันกรมการศาสนารับผิดชอบจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย)

 

กฐินราษฎร์

ในปัจจุบัน การถวายผ้ากฐินโดยทั่วไปในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับ “บริวารกฐิน” มากกว่าผ้ากฐินซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกรานกฐิน
กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย

การถวาย กฐิน เป็นกุศลผลบุญที่ใหญ่หลวง ผู้ถวายจะปรารถนาความสำเร็จใด ๆ ในภพชาติใหม่ ก็จะให้สำเร็จได้ดังมโนรถความปรารถนา หรือถ้าจะปรารถนาพุทธภูมิก็ดี ปัจเจกภูมิก็ดี สาวกภูมิก็ดี สาวิกาภูมิก็ดี เมื่อมีวาสนาบารมีแก่กล้าแล้วก็จะได้สำเร็จดังมโนปณิธาน หรือความปรารถนาที่ตั้งไว้

อ่านบทความแนะนำเกี่ยวกับ การทอดกฐิน

อ่านบทความแนะนำ บุญกฐินคืออะไร