วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า “จำพรรษา” นั่นเอง โดย วันเข้าพรรษา 2565ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8
ประวัติวันเข้าพรรษา
“เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน โดยแบ่งเป็น
– ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
– ปัจฉิมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
อย่างไรก็ตาม หากมีกิจธุระ คือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า “สัตตาหะ” หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่
1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้
นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า “วิหาร” แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่าน ครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในวันเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา
กิจกรรมวันเข้าพรรษามีอะไรบ้าง
1. การหล่อเทียนพรรษา
ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา กิจกรรมวันเข้าพรรษา ที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ก็คือพิธีหล่อเทียนจำนำพรรษา ซึ่งถ้าเป็นนักเรียนก็จะได้ทำกิจกรรมนี้ในโรงเรียน หรือเราอาจเห็นตามห้างสรรพสินค้า ถึงแม้ว่าเทียนอาจไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องใช้เท่าไหร่แล้ว แต่ก็เป็นกิจกรรมส่งเสริมและให้ความสำคัญกับประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่ดีอันหนึ่งทีเดียว
2.การถวายเทียนพรรษา
เมื่อหล่อเทียนเสร็จแล้ว ก็ต้องมีพิธีถวายเทียนพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีไทยที่ชาวพุทธนิยมทำกัน พิธีแห่เทียนจำนำพรรษาก็จะมีขบวนสาธุชน ดอกไม้ อาจมีการเวียนประทักษิณรอบพระอุโบสถก่อน แล้วจึงนำไปถวายแด่คณะสงฆ์ยังวัดนั้นๆ
3.การถวายหลอดไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้า
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ตามวัดวาอารามใช้ไฟฟ้ากันแล้ว ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงนิยมถวายหลอดไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นการถวายแสงสว่างให้กับพระภิกษุสงฆ์เหมือนกับเราได้ถวายเทียนพรรษานั่นเอง หลายๆ คน เตรียมหลอดไฟใส่ท้ายรถแล้วตระเวนถวายตามวัดต่างๆ ที่ห่างไกลชุมชนก็มี ก็จะยังใจให้ปลื้มได้อีกกิจกรรมหนึ่ง
4. การถวายผ้าอาบน้ำฝน และร่ม
เพราะว่าในช่วงเข้าพรรษา เป็นช่วงฤดูฝน พุทธศาสนิกชนจึงนิยมถวายร่มกันในช่วงเข้าพรรษา เป็นการทำบุญตามกาล ว่าเวลานี้ควรแก่การถวายสิ่งใด ก็ถวายสิ่งนั้น
5. การตั้งใจทำทาน ตักบาตรพระทุกวัน
หลายๆ คนอาจปวารณาว่าในช่วงเข้าพรรษานี้ขอทำความดีให้มากขึ้น คือ ทำทานให้สม่ำเสมอทุกวัน โดยอาจตั้งใจว่า จะตักบาตรพระหน้าบ้านให้ได้ทุกวัน หรืออย่างน้อยตักบาตรห้ได้ทุกวันพระ เป็นต้น
6. การตั้งใจรักษาศีลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเราก็ต้องมีศีล 5 เป็นปกติ เราอาจตั้งใจว่า พรรรษานี้เป็นอย่างไรเป็นกันจะขอรักษาศีล 8 ให้ได้ทุกวัน ก็จะเป็นการสั่งสมความดีที่ยิ่งยวดขึ้นไป ถ้ารู้สึกว่ายังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการรักษาศีล
7. การตั้งใจนั่งสมาธิทุกวัน
เป็นไปได้ที่เราจะตั้งใจนั่งสมาธิให้ได้ทุกวัน วันละ 15 นาที 30 นาที 60 นาที ซึ่งก็มีกิจกรรมให้เราได้บันทึกผลการปฏิบัติธรรมออนไลน์ได้ เราสมารถพัฒนาการนั่งสมาธิของตัวเราเอง และเห็นผลการปฏิบัติธรรมของกันและกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการนั่งสมาธิ ดำเนินตามคำสอนของพระสัมมสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
8. การงดเว้นอบายมุขต่างๆ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา
สำหรับกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ก็เป็นกิจกรรมที่มีหน่วยงานให้การสนับสนุนมาก เราคงเคยได้ยินสโลแกนคำนี้อยู่บ่อยๆ คือ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ถึงแม้ว่า 3 เดือนคงไม่เพียงพอต่อการงดเหล้า เพราะเหล้าไม่ดีต่อสุขภาพและยังผิดศีล แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งดีๆ ที่เราจะได้เริ่มต้นตั้งใจในการทำความดีเพื่อตนเอง
9. การตั้งใจไปทำบุญที่วัดทุกวันพระ
การไปทำบุญที่วัดก็จะทำให้เราได้สำรวมกาย วาจา ใจ ได้ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล ซึ่งก็จะเป็นทางมาแห่งบุญให้กับตัวเรา ดังนั้น พรรษานี้อาจตั้งใจไปเลยว่าจะขอไปทำบุญที่วัดให้ได้ทุกวันพระ หรือทุกวันอาทิตย์ เมื่อทำได้จริงอย่างตั้งใจแล้ว เราก็จะได้สัจจะบารมีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง

ผ้าอาบน้ำฝน
พระสงฆ์สามารถใช้ได้ “ผ้าอเนกประสงค์” เช่น นุ่งสรงน้ำ, เช็ดตัว, ปูนอน และห่มคลุมกันหนาว เป็นต้น
ชุดผ้าไตรจีวร
ตัดเย็บประณีต ฝีเข็มคู่ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย พร้อมดอกบัวขาว ขนาด & สีสั่งตัดเย็บได้